การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

ระบบการติดตาม

ระบบการติดตาม

บริษัทฯ มีระบบการติดตามและประเมินผลการควบคุมภายใน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การควบคุมภายในยังดำเนินไปอย่างครบถ้วน เหมาะสมดังนี้

1. บริษัทฯ จัดให้มีกระบวนการติดตามการปฏิบัติตามจริยธรรมทางธุรกิจ และข้อกำหนดที่ห้ามฝ่ายบริหารและพนักงาน ปฏิบัติตนในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยมอบหมายให้หน่วยงานตรวจสอบภายในติดตาม การปฏิบัติและรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

บริษัทฯ ดำเนินการติดตาม และประเมินผลระบบการควบคุมภายใน โดยผู้ตรวจสอบภายในซึ่งมีความรู้และความสามารถ และมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน ซึ่งจัดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่วางไว้ ทั้งนี้ มีการกำหนดความถี่ในการติดตามและประเมินผลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลง บริษัทฯ มีการกำหนดแนวทางการรายงานผลการตรวจสอบภายในขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ในการนี้ บริษัทฯ ส่งเสริมให้ผู้ตรวจสอบภายในปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในได้รับการส่งเสริมเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

2. บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางรายงานผลการประเมิน และสื่อสารข้อบกพร่องของการควบคุมภายในอย่างทันเวลาต่อบุคคล ที่รับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการการตรวจสอบตามความเหมาะสม เพื่อให้มีการดำเนินการ ติดตามแก้ไขอย่างทันท่วงที ถ้าหากผลตรวจสอบมีข้อมูลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเป้าหมายที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ บริษัท มีนโยบายการรายงานเป็นลำดับขั้น คือ ในกรณีถ้าเกิดเหตุการณ์ หรือสงสัยว่ามีเหตุการณ์ทุจริตอย่างร้ายแรง หรือมีการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ผิดปกติอื่น ที่อาจกระทบต่อชื่อเสียงและฐานะการเงินของบริษัท อย่างมีนัยสำคัญ เช่นนี้ ผู้บริหารต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทโดยพลัน

หรือ ในกรณีของการรายงานข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญ พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหา ให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน รายงานต่อกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาภายในระยะเวลาอันควร แล้ว คณะกรรมการตรวจสอบรายงานต่อ คณะกรรมการบริษัทอีกทอดหนึ่ง

ในส่วนของการรายงานความคืบหน้าในการปรับปรุงข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญ ให้รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และอยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการตรวจสอบในการรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป

ซึ่งปกติ คณะกรรมการตรวจสอบจะมีการพิจารณาผลการติดตามประเมินผลการตรวจสอบเป็นประจำอย่างน้อย ไตรมาสละครั้งและรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทในขั้นตอนต่อไปในระยะเวลาเดียวกัน

สรุปความเห็นของคณะกรรมการเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทฯ มีความเพียงพอและเหมาะสม ทั้งนี้มีบุคลากรอย่างเพียงพอที่จะดำเนินการตามระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบ การควบคุมภายใน ในเรื่องการติดตามควบคุมดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อยให้สามารถป้องกันทรัพย์สินของบริษัทฯ และบริษัทย่อยจากการที่กรรมการหรือผู้บริหารนำไปใช้โดยมิชอบ หรือโดยไม่มีอำนาจ รวมถึงการทำธุรกรรมกับบุคคล ที่อาจมีความขัดแย้งและบุคคลที่เกี่ยวโยงกันอย่างเพียงพอแล้ว

อนึ่ง ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ คือ นายกฤษดา เลิศวนา ซึ่งสังกัดสำนักงานอีวาย ได้ตรวจสอบงบการเงินรายไตรมาส และประจำปี 2559 มีความเห็นว่าระบบการควบคุมภายในมีความเหมาะสมและเพียงพอ

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้นมาก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องมีความมั่นใจในคุณภาพขององค์กร

กล่าวได้ว่าที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน

ในส่วนของหัวหน้างานตรวจสอบภายใน

หัวหน้างานตรวจสอบภายในของบริษัทฯ ประจำปี 2559 ชื่อ นางจันทร์เพ็ญ นพสูริย์ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน เป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานตรวจสอบภายใน ซึ่งเข้าใจ ในกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย จึงมีความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาและอนุมัติ แต่งตั้ง ถอดถอน โยกย้าย ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานสำนักตรวจสอบภายในของบริษัทฯ จะผ่านจากผู้บริหารระดับสูงเสนอและได้รับ ความเห็นชอบจากประธานคณะกรรมการตรวจสอบ